ติดต่อเรา

โควิด 19 : สถานการณ์ขยะในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรในช่วงล็อกดาวน์


"(ทำงาน) หนักขึ้นประมาณ 2 เท่าเลยนะครับ เพราะผู้คนอยู่บ้านกันมากขึ้น ขยะเยอะขึ้น" คำบอกเล่าของนันท์มนัส สุยะใหญ่ พนักงานเก็บขนขยะมูลฝอย ประจำเขตดินแดน สรุปสถานการณ์ขยะในกรุงเทพฯ ช่วง "ล็อกดาวน์" ได้เป็นอย่างดี

รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อควบคุมโรคระบาดตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ซึ่งมีข้อกำหนดต่าง ๆ ออกตามมามากมาย รวมทั้งการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค การห้ามเดินทางข้ามจังหวัดและการประกาศเคอร์ฟิว

ผลจากการที่คนอยู่บ้านมากขึ้น ใช้บริการ "เดลิเวอรี" สั่งสินค้าและอาหารมากขึ้น ทำให้ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา นันท์มนัสต้องใช้เวลาเก็บขยะเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 2 ชม. จากเดิมวันละ 7-8 ชม. เป็น 10 ชม.

"นิวนอร์มัล" หรือชีวิตวิถีใหม่ช่วยควบคุมโรคระบาดได้จริง แต่ก็มี "ผลข้างเคียง" เช่นกัน นั่นคือปริมาณขยะพลาสติกจากการสั่งสินค้าเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นกว่า 15% จากการประเมินของกรมควบคุมมลพิษ

แม้ไม่รู้แน่ว่าการระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด แต่ที่รู้แน่ ๆ คือคนไทยต้องใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่นี้ไปอีกนาน คำถามก็คือเราจะรับมือกับผลข้างเคียงของชีวิตวิถีใหม่อย่างไรเพื่อไม่ให้ "ขยะเดลิเวอรี" กลายเป็นนิวนอร์มัลของคนไทย

"ออกไปไหนไม่ได้ก็ชอปปิ้งออนไลน์"

"พอมีนโยบายให้ทำงานที่บ้านบวกกับล็อกดาวน์ ก็ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านแทบจะ 100% อาหารก็ใช้สั่งเอาจากแอปฯ เดลิเวอรี ซึ่งบางเจ้าก็สามารถแจ้งพนักงานได้ว่าไม่เอาช้อนส้อมพลาสติก แต่ก็รู้เลยว่าถ้าทุกบ้านเป็นแบบนี้ ขยะพลาสติกจะต้องเยอะขึ้นมากแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ ๆ ที่ทำได้ก็คือพยายามใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำเท่าที่ใช้ได้ ก่อนทิ้งก็แยกขยะให้เรียบร้อย" พนักงานบริษัทเอกชนซึ่งอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมใจกลางกรุงเทพฯ รายหนึ่งเล่าให้บีบีซีไทยฟัง

เธอบอกด้วยว่าในการใช้ชีวิตอยู่กับบ้านนับตั้งแต่มีโรคระบาด นอกจากใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์เป็นประจำแล้ว ยังสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่าปกติด้วย

"อยู่บ้านออกไปไหนไม่ได้ก็ชอปปิ้งออนไลน์เอา ทีนี้ก็จะมีขยะจากกล่องพัสดุ วัสดุกันกระแทกทั้งพลาสติกและกระดาษเยอะแยะไปหมด แล้วมันไม่ใช่ของเราห้องเดียว พอรวมกันทั้งคอนโดจะเห็นได้ชัดมาก แค่ของเราคนเดียว อาทิตย์หนึ่งบางทีก็เกิน 5 กล่องแล้ว" เธอกล่าวเสริม

ขณะที่แม่บ้านผู้ดูแลทำความสะอาดคอนโดมีเนียมแห่งนี้บอกว่าจากการสังเกต ขยะที่เพิ่มขึ้นมากสุดคือกล่องพลาสติกใส่อาหาร รองลงมาเป็นกล่องพัสดุ และวัสดุกันกระแทกต่าง ๆ

ส่วนหน้ากากอนามัย ซึ่งนับว่าเป็นขยะติดเชื้อนั้น แม่บ้านบอกว่าเข้าใจว่าผู้อยู่อาศัยจะทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ ไม่ได้แยกเป็นขยะติดเชื้อ จึงไม่เห็นว่ามีปริมาณมากขึ้นแค่ไหน แต่ก็ได้ขอความร่วมมือให้ลูกบ้านช่วยกันแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะติดเชื้อก่อนทิ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปกำจัดต่ออย่างปลอดภัย

ขยะจากการสั่งสินค้าเดลิเวอรีพุ่ง

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่าช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านและสั่งปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการติดต่อของโรคนั้น ปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากบริการรับส่งอาหาร (food delivery)เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ถึง 15% คือจากวันละ 5,500 ตัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป เช่น นั่งรับประทานอาหารที่ร้านไม่ได้ ใช้ชีวิตและทำงานอยู่กับบ้านมากขึ้น จึงมีการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านมากขึ้น ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

พนักงานรับส่งสินค้า Image copyright Getty Images
คำบรรยายภาพ ขณะที่ธุรกิจอย่างอื่นซบเซาในช่วงโควิด-19 ธุรกิจส่งสินค้ากลับเฟื่องฟู

ปริมาณขยะเดลิเวอรีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจรายใหญ่ของไทย ร่วมกับ ทส. ริเริ่มโครงการ "ส่งพลาสติกกลับบ้าน" ตั้งจุดรับขยะพลาสติกแบบยืดและแบบแข็ง 10 จุดในย่านสุขุมวิท และรณรงค์ให้ครัวเรือนแยกขยะติดเชื้อและขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปเพื่อลดปริมาณขยะและนำไปกำจัดอย่างมีประสิทธิภาพ

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทยกล่าวกับบีบีซีไทยว่ากลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือประชาชนที่มีพฤติกรรมคัดแยกขยะอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะนำพลาสติกเหล่านั้นไปทิ้งที่ไหนหรือจัดการต่ออย่างไร หากมีที่รองรับขยะเหล่านี้แล้ว คาดว่าคนอื่น ๆ จะเริ่มมีพฤติกรรมแยกขยะกันมากขึ้น

ขยะพลาสติกที่รวบรวมได้นี้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ตามแนวทางของ "ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน" ที่ส่งเสริมการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่หรือใช้ซ้ำเพื่อลดปริมาณของเสีย

แม้ขยะจากการสั่งอาหารและสินค้าแบบจัดส่งถึงที่จะมากขึ้น แต่ในภาพรวมแล้วปริมาณขยะของกรุงเทพฯ ในช่วง "ล็อกดาวน์/ปิดเมือง" ลดลงไปมาก

พนักงานเก็บขยะ Image copyright Wasawat Lukharang/BBC Thai
คำบรรยายภาพ พนักงานจัดเก็บขยะ สำนักงานเขตดินแดงลำเลียงถุงขยะจำนวนมากขึ้นรถไปกำจัด

ขยะเศษอาหารลด

นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ปริมาณขยะโดยรวมในกรุงเทพฯ ลดลงไปประมาณ 1,000 ตันต่อวัน โดยปัจจัยหลักมาจากการที่ห้างสรรพสินค้า สถานประกอบการทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ปิดดำเนินการ ทำให้ขยะจำพวกเศษอาหารหรือขยะเปียกซึ่งมีน้ำหนักมากลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แม้ปริมาณขยะโดยรวมจะลดลง แต่จากการสังเกตของพนักงานเก็บขยะ กทม. พบว่าขยะที่มาจากบริการรับส่งสินค้าและอาหารหรือบริการเดลิเวอรี ทั้งพลาสติกและกระดาษมีปริมาณเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมฯ บอกว่า กทม.ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดเนื่องจากไม่ได้เก็บข้อมูลหรือคัดแยกขยะประเภทนี้มาชั่งน้ำหนักโดยเฉพาะ

ขยะ Image copyright Wasawat Lukharang/BBC Thai
คำบรรยายภาพ ขณะที่ "ขยะเปียก" จำพวกเศษอาหารน้อยลงในกรุงเทพฯ ช่วงล็อกดาวน์ แต่ขยะที่เป็นบรรจุภัณฑ์ วัสดุกันกระแทก และกล่องพลาสติกใส่อาหารกลับเพิ่มขึ้น

นายชาตรีให้ข้อมูลว่า ในปี 2562 กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะเฉลี่ย 10,500 ตันต่อวัน โดยเมืองที่มีการขยายตัวตลอดเวลาอย่างกรุงเทพฯ แม้จะมีระบบการคัดแยกจากต้นทางที่ดี จนสามารถนำไปรีไซเคิล หรือทำปุ๋ยอินทรีย์ได้ แต่ก็ยังเหลือขยะที่ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องอีกกว่า 27% หรือราว 7.36 ล้านตัน อีกทั้งปริมาณขยะยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ปริมาณขยะในปี 2562 เพิ่มจากปี 2561 เกือบ 2% จากประชากรและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมทั้งวิถี "บริโภคนิยม" ที่ผู้คนนิยมซื้อสินค้าเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ

ขยะติดเชื้อ

ในสถานการณ์โรคระบาด หลายคนอาจกังวลว่าปริมาณขยะติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้น แต่ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.บอกว่าปริมาณขยะติดเชื้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

มีเพียงขยะหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้น โดยในขณะนี้มีปริมาณการใช้ 1.5-2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนที่ กทม.จัดการได้ เพียงแต่ต้องมีขั้นตอนการจัดการเพิ่มขึ้น

รถเก็บขยะ Image copyright Thai News Pix
คำบรรยายภาพ พนักงานจัดเก็บขยะของ กทม. ใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19

นายชาตรีกล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติ กทม.มีปริมาณขยะติดเชื้อโดยเฉลี่ย 40 ตันต่อวัน ส่วนใหญ่มาจากสถานพยาบาล 3,000 กว่าแห่ง แต่ช่วงโควิด สถานพยาบาลและคลินิกงดรับนัดคนไข้หรือทำหัตถการ ปริมาณขยะติดเชื้อจากสถานประกอบการเหล่านี้จึงลดลง แต่ก็มีขยะติดเชื้อจำพวกหน้ากากอนามัยและชุดป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลหรือชุดพีพีอีเพิ่มขึ้นมา ปริมาณขยะติดเชื้อในภาพรวมจึงยังคงเท่าเดิม

แม้ปริมาณขยะติดเชื้อจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ "พื้นที่" จัดเก็บขยะติดเชื้อขยายวงขึ้น โดยต้องดำเนินการจัดเก็บในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ในกรุงเทพฯ ทั้งที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลและ กทม. ตลอดจนถึงขยะติดเชื้อจากบ้านเรือนที่มีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อและได้รับคำสั่งจากแพทย์ให้กักตัวอยู่บ้าน (Home Quarantine) ด้วย

ขยะติดเชื้อที่จัดเก็บทั้งหมดจะถูกนำไปกำจัดในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและหนองแขม ที่อุณหภูมิมากกว่า 750 องศา ซึ่งวันหนึ่งรองรับขยะได้มากกว่า 50 ตัน

ช่วยกันปกป้องพนักงานเก็บขยะ กทม.

นายชาตรีขอความร่วมมือจากประชาชนในการคัดแยกขยะในครัวเรือน โดยขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัยให้แยกใส่ถุงมัดให้มิดชิดและทำเครื่องหมายแจ้งว่าเป็นขยะติดเชื้อ เพื่อให้พนักงานเก็บขยะรู้และจะได้นำไปทิ้งลงถังบรรจุขยะติดเชื้อที่มีประจำบนรถเก็บขยะทุกคัน

นายชาตรีบอกว่าการจัดการขยะในกรุงเทพฯ จะมีประสิทธิภาพได้ต้องมีการจัดการที่ดีทั้งที่ "ต้นน้ำ" คือ การคัดแยกขยะจากครัวเรือน และ "ปลายน้ำ" คือระบบกำจัดขยะของ กทม.

พนักงานเก็บขยะ Image copyright Wasawat Lukharang/BBC THai
คำบรรยายภาพ สด โชติช่วง เป็นพนักงานจัดเก็บขยะของ กทม. มานานกว่า 10 ปี บอกว่าจัดเก็บขยะในช่วงโควิด-19 ระบาดเป็นช่วงที่งานหนักที่สุด

เขากล่าวว่าการคัดแยกขยะติดเชื้อยังช่วยลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่จัดเก็บด้วย เพราะขณะนี้เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงป้องกันตัวเองอย่างดีที่สุดด้วยการใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น หน้ากาก ถุงมือ รองเท้าบู๊ท และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับขยะติดเชื้อที่ปะปนมากับขยะทั่วไป

พนักงานเก็บขยะอย่างนันท์มนัสก็กังวลเรื่องนี้เหมือนกัน

"พวกขยะติดเชื้อ ประชาชนเขาไม่แยกมาให้ คือเขาใส่รวมมากับขยะเลย พอเราจับโยนหรือยกถังอย่างนี้ มันก็อาจจะโดนมือได้ ถุงมือก็อาจจะช่วยได้นิดนึง"

ขณะที่นายสด โชติช่วง เพื่อนร่วมงานของนันท์มนัสบอกว่า ด้วยสภาพการทำงานที่หนักกว่าเดิม อุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่ต้องมีมากขึ้น ความเสี่ยงและความกังวลว่าตัวเองจะติดเชื้อ ทำให้ "ช่วงนี้เป็นช่วงที่หนักที่สุด" ในชีวิตการทำงานเป็นพนักงานเก็บขยะมา 11 ปี

Credit : https://www.bbc.com/thai/thailand-52817608