การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตการณ์สำคัญที่สร้างผลกระทบต่าง ๆ มากมายต่อคนทั่วโลก ปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น และอาจถูกมองข้ามไป คือ การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วง 10 ปี (ระหว่างปีพ.ศ.2552-2561) นอกจากปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นจาก 24.11 ล้านตัน เป็น 27.93 ล้านตัน ปริมาณขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ.2561 คิดเป็น 12% ของขยะมูลฝอย หรือประมาณ 2 ล้านตัน โดย 1.2 ล้านตัน เป็นถุงพลาสติก ส่วนที่เหลือเป็นพลาสติกชนิดอื่น ๆ เช่น กล่อง ถาด ขวด ฝาจุก
สำหรับขยะพลาสติก มีเพียง 25% เท่านั้นที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ ที่เหลือ 75% เป็นขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastics) อย่าง ถุงใส่อาหาร ถุงหิ้ว แก้วพลาสติก กล่องพลาสติก กล่องโฟม ฯลฯ แสดงให้เห็นว่า แม้พลาสติกจะมีอายุยาวนาน แต่กลับมีอายุการใช้ที่สั้นมาก โดยถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วิกฤตโควิด-19 ทำให้การใช้งานแอปพลิเคชัน food delivery ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งผลกระทบที่ตามมา ก็คือ ทำให้เกิดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวมากขึ้นด้วย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เคยประเมินว่า ต่อ 1 ยอดการสั่งซื้อ จะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น อาทิ กล่องอาหาร ถุงใส่นํ้าจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงนํ้าซุป และถุงพลาสติกหูหิ้ว สำหรับใส่อาหารทั้งหมด
นอกจากนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังประเมินว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 15% จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงขยะที่เกิดจากหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ที่คาดว่าจะมีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยราว 1.5-2 ล้านชิ้น/วัน อีกด้วย
คนไทยส่วนใหญ่มักทิ้งขยะอาหารรวมกับขยะทั่วไป ทำให้การคัดแยกขยะก่อนการนำไปรีไซเคิลและการกำจัดเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ขยะพลาสติกปนเปื้อนที่ไม่ถูกแยกตั้งแต่ต้นทาง ส่วนใหญ่กลายเป็นขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง ซึ่งใช้เวลาย่อยสลายนับร้อยปี ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามมา
การแยกขยะก่อนทิ้งขยะพลาสติกลงถัง จะช่วยง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล คนจำนวนมากไม่แยกขยะ เพราะเชื่อว่าสุดท้ายก็จะถูกนำ ไปทิ้งรวมกันอยู่ดี ทั้ง ๆ ที่หากมีการแยกขยะอย่างเหมาะสม จะทำให้สามารถจัดการขยะได้ง่ายขึ้น เช่น ขยะพลาสติกที่ไม่มีการปนเปื้อนเศษอาหารเท่านั้น ถึงจะถูกนำไปรีไซเคิล แต่ถ้าปนเปื้อนแล้วจะถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ
ข้อแนะนำในการแยกขยะ
เราต้องรู้จักประเภทของขยะก่อน เพื่อที่จะสามารถคัดแยกขยะก่อนทิ้งได้ถูกต้อง ซึ่งมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ถังขยะย่อยสลาย ถังขยะทั่วไป ถังขยะรีไซเคิล และถังขยะอันตราย
1.ถังขยะย่อยสลาย(สีเขียว) - สำหรับขยะที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติในระยะเวลาอันสั้น เช่น เศษอาหาร กิ่งไม้ มูลสัตว์
2.ถังขยะทั่วไป(สีน้ำเงิน) - สำหรับขยะทั่วไป ที่ย่อยสลายได้ยาก นำกลับมาผลิตใหม่ไม่คุ้มทุน และไม่มีพิษ เช่น โฟม ฟอล์ย ถุงพลาสติก ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
3.ถังขยะรีไซเคิล(สีเหลือง) - สำหรับขยะที่นำกลับมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ได้อีกครั้ง แม้ขะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะ
4. ถังขยะอันตราย (สีแดง) - สำหรับขยะอันตรายที่มีการปนเปื้อนสารเคมี มีอันตรายต่อร่างกาย และสิ่งแวดล้อม โดยการคัดแยก จะต้องระมัดระวังไม่ให้ขยะอันตรายแตกหัก ชำรุด หรือมีสารเคมีรั่วไหลออกมาได้ เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ขวดพลาสติกบรรจุสารเคมี กระป๋องสเปรย์ ยาฆ่าแมลง
ประโยชน์ของการแยกขยะนั้น มีหลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพ สามารถลดความเสี่ยงจากสารอันตรายหรือไมโครพลาสติกที่มาจากพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ด้านการเงินจากการแยกขยะรีไซเคิล แล้วนำไปขายแหล่งรับซื้อก็สามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋า รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงสารพิษอันตรายปนเปื้อนตามแหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อมได้
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทยสร้างปริมาณขยะทางทะเล และขยะมูลฝอย 27.4 ล้านตัน ติดอันดับ 6 ของโลก 1 ใน 5 ของปริมาณขยะทั้งหมดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ใช้สินค้า/ผลิตภัณฑ์ ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาระดับโลก
“สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อสร้างปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยหลากหลายวิธี เช่น กองทุนการจัดการขยะเพื่อสวัสดิการชุมชน นวัตกรรมการจัดการขยะในชุมชน รวมทั้งสนับสนุน "แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ" ภายใต้แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ผลักดันข้อเสนอและนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ดร.สุปรีดา กล่าว
เราต่างรู้ดีว่า ”ปัญหาสิ่งแวดล้อม”ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก แต่การคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยสิ่งแวดล้อมที่เริ่มได้จากตัวเราเอง ซึ่งจริงๆ แล้ว การทำเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็คือการทำเพื่อตัวของเราเอง หากสิ่งแวดล้อมดี เราก็จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย รวมทั้งปลอดภัยมากขึ้น เพราะใครๆ ต่างก็อยากอยู่ในบ้านที่สวยงาม และสะอาด ซึ่งเราจะรอให้คนอื่นมาทำให้บ้านเราสะอาดไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มที่เราลงมือทำ ซึ่งเรื่องเล็กๆ ที่เราทำในวันนี้ อาจเป็นหนึ่งในเรื่องดีๆ ที่ช่วยให้วิกฤตการณ์นี้ผ่านพ้นไปได้ง่ายขึ้น
ขอบคุณที่มา : ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ขอบคุณที่มา : https://www.kinrehab.com/news/view/363
ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือจับตาทิศทางสุขภาพของคนไทย 2564 หนังสือทิ้งได้ถูกต้อง ช่วยโลกได้ถูกทาง และคู่มือแนะนำการคัดแยกขยะ
ขอบคุณที่มาภาพประกอบ : www.freepik.com