ติดต่อเรา

เทรนด์แรง! ถุงขยะรักษ์โลก “S.D.J.” เติมกลิ่นสร้างต่าง บริษัทยักษ์ใหญ่อ้าแขนรับ


ถุงขยะมีกลิ่นหอมสีสันสะดุดตา

เมื่อถุงขยะกลายเป็นสินค้าที่มีอัตราการเติบโตไม่อิงกับกระแสเศรษฐกิจมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการด้านนี้เกิดขึ้นมากมาย แต่ผู้ที่จะอยู่รอดและครองตลาดได้ยาวนานคือผู้ที่เน้นคุณภาพ และสร้างความต่างให้ตลาดอยู่เสมอ เฉกเช่น “บริษัท เอสดีเจ อินเตอร์ จำกัด” ผู้ผลิตถุงขยะ ถุงหูหิ้ว ให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศ 3 ราย ส่งผลยอดขายโตต่อเนื่อง
ถุงขยะ ผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายสูงสูด
หากย้อนไปเมื่อปี 2543 บริษัท เอสดีเจ อินเตอร์ จำกัด ได้เริ่มกิจการโดยได้ที่ปรึกษาคนสำคัญ “นายไพฑูรย์ ปานสูง” ผู้คร่ำหวอดในวงการเม็ดพลาสติกมานานกว่า 25 ปีจากการเป็นพนักงานประจำ แต่เมื่อลูกๆ เรียนจบก็สนใจในธุรกิจถุงพลาสติก โดยเฉพาะถุงขยะที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง และจะกลายเป็นสิ่งของจำเป็นที่หลายบ้าน และหลายธุรกิจต้องซื้อใช้งาน
ถุงขยะสามารถผลิตได้ทุกแบบ
ทุกอย่างก็เป็นตามคาด หลังจากลูกชายเรียนจบด้านไฟแนนซ์ และลูกสาวใช้วิชาความรู้ด้านการตลาดมาบริหารธุรกิจ ด้วยการเข้าไปติดต่อกับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง เทสโก้ โลตัส, ซีพีออลล์ และพรีแพค ประเทศไทย ด้วยการนำสินค้าไปเสนอขาย เน้นคุณภาพเป็นสำคัญ ทำให้มียอดสั่งผลิตจำนวนมาก และยอดขายเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งสัดส่วนการผลิตสินค้าให้ทั้ง 3 บริษัทอยู่ที่ 97% โดยถุงขยะมีออเดอร์สั่งผลิตมากที่สุดประมาณ 70% รองลงมาคือ ถุงหูหิ้ว 20% และอื่นๆ เช่น ถุงพลาสติกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม รับน้ำหนักได้ 25 กก., ถุงพลาสติกอเนกประสงค์ และพลาสติกที่มีความเหนียวพิเศษใช้สำหรับหิ้วน้ำดื่มแพก (Shrinkable Film) เป็นต้น

“เราเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตถุงขยะภายใต้แบรนด์ของเราเองที่ชื่อว่า N-joy ส่งจำหน่ายให้กับเทสโก้ โลตัส แต่หลังจากนั้นเพียง 1 ปียอดขายเติบโตอย่างรวดเร็ว ทางห้างฯ จึงติดต่อให้ผลิตแบบ House Brand หรือการผลิตแบบติดแบรนด์ของห้างนั้นๆ ทำให้ระหว่างปี 50-59 ยอดขายโต 20-30% จากนั้นก็มีบริษัท ซีพีออลล์ และพรีแพค ประเทศไทย ให้ผลิตถุงพลาสติกให้ในประเภทที่แตกต่างกัน เช่น ซีพีออลล์ เน้นไปที่ถุงหิ้ว ส่วนพรีแพค ผลิตถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร” นายไพฑูรย์ กล่าว

ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่บริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติก ท่ามกลางผู้เล่นที่อยู่ในตลาดเดิม และคู่แข่งรายใหม่ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่นายไพฑูรย์กลับพาธุรกิจครองตลาดและมียอดขายเติบโตทุกปีนั้น

เขาบอกว่า 'คุณภาพ' เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ครองตลาดได้ยาวนาน โดยเขาเลือกใช้เม็ดพลาสติกใหม่ ไม่ได้ผ่านการรีไซเคิลมาก่อน ทำให้ได้ถุงขยะที่บางแต่เหนียวจากคุณภาพเม็ดพลาสติกเกรดเอ รวมถึงไม่มีกลิ่นเหม็นเมื่อนำมาใช้งาน ซึ่งกลิ่นไม่พึงประสงค์เหล่านี้เกิดจากการใช้พลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นถุงขยะ และต้องใช้ในปริมาณที่มากเพื่อทำให้ถุงขยะมีความหนารองรับน้ำหนักได้ดี เนื่องจากทุกครั้งที่พลาสติกถูกรีไซเคิลมากเท่าไร ความเหนียวก็จะลดลงตามลำดับ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้นำตลาดอันดับต้นๆ ที่ผลิต “ถุงขยะรักษ์โลก” หรือถุงที่สามารถทิ้งและย่อยสลายได้ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จำหน่ายที่โลตัสซึ่งถือเป็นการสร้างความต่างเหนือคู่แข่ง
พิมพ์ลายได้ถึง 8 สี
ล่าสุดได้ผลิต “ถุงขยะมีกลิ่นหอม” รวม 4 กลิ่น ได้แก่ กลิ่นเลมอน, แอปเปิล, วานิลลา และมิกซ์เบอร์รี โดยแนวคิดดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเทสโก้ โลตัส และนายไพฑูรย์ โดยมองว่าสามารถสร้างความต่างในตลาดได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มยอดขายได้เช่นกัน ซึ่งกลิ่นเหล่านี้จะเป็นการนำน้ำหอมไปใส่ในขั้นตอนผสมเม็ดสีพสาสติกเพื่อให้กลิ่นติดทนนาน โดยเริ่มจำหน่ายได้เกือบ 1 เดือนแล้ว เน้นที่กลิ่นหอม และสีสันสวยงามสะดุดตา

ปัจจุบันกำลังการผลิตสินค้าทุกประเภทของบริษัทฯ อยู่ที่ 400 ตัน/เดือน โดยปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 500 ตัน/เดือน จากการขยายโรงงานผลิตไปที่ จ.นครพนม โดยนายไพฑูรย์อาศัยความได้เปรียบจากการเป็นคนนครพนมโดยกำเนิด เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตในธุรกิจนี้ ที่นอกจากจะกระจายสินค้าในภาคอีสานได้แล้ว ยังส่งออกไปยังประเทศลาว พม่า เวียดนามได้อีกด้วย โดยหวังจะใช้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษในการลดต้นทุนการผลิต

ในฐานะที่นายไพฑูรย์เป็นที่ปรึกษาธุรกิจนี้ เขายังได้มอบแนวคิดในการดำเนินธุรกิจให้บรรดาลูกๆ ไว้ด้วย ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ธุรกิจอื่นก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ คือ “P.C.D” คือ Product หรือสินค้าต้องผลิตตรงตามสเปกที่ลูกค้าต้องการ Cost หรือต้นทุนการผลิต รวมถึงราคาต้องสมเหตุสมผล และ Delivery หรือการจัดส่งสินค้าที่ต้องตรงเวลา ซึ่งหากทุกธุรกิจทำได้ ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินเอื้อม
บรรยากาศภายในโรงงานผลิต
นอกจากนี้เขายังยึดการดำเนินธุรกิจแบบ “ไม่โลภ” เน้นการแบ่งปัน โดยเฉพาะการ “ให้” แก่พนักงาน โดยเขาได้แบ่งสัดส่วนผลกำไรไว้ดังนี้ คือ 50% ให้กับทางบริษัทฯ เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระเงินกู้, 30% แบ่งให้ผู้ถือหุ้น และอีก 20% ให้แก่พนักงานเป็นโบนัส ฉะนั้นเมื่อบริษัทฯ ทำกำไรได้มาก พนักงานและหุ้นส่วนก็จะได้มากเช่นกัน ซึ่งถือว่ายุติธรรมกับทุกฝ่าย และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแนวคิดในการบริหารธุรกิจ SMEs ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งหากทุกธุรกิจได้มีการนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้ เชื่อแน่ว่าธุรกิจฐานรากของประเทศอย่าง SMEs ไทย จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของชาติอย่างแน่นอน