ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นแหล่งซื้อของกินของใช้ที่เปิดทำการระหว่างช่วงการปิดเมืองจากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายคนเลิกใช้ถุงผ้าเพราะกลัวเชื้อโรคจะติดอยู่ที่ถุงที่เราหิ้วกลับบ้านมาด้วย
“พลาสติก” กลายเป็นวัสดุที่สร้างความอุ่นใจและสบายใจให้กับผู้บริโภคว่าเป็นสิ่งที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรค และกลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงนี้ โดยเฉพาะเหล่าอาหารเดลิเวอรีที่จัดส่งถึงบ้านยามนี้ แต่อีกด้านก็คือจำนวนขยะมหาศาล เพราะสิ่งจำเป็นเหล่านี้ล้วนเป็นของที่ใช้แล้วต้องทิ้ง
เมแกน เมย์ (Meghan May) ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์บอกว่า เธอใช้ถุงผ้าตลอดเวลา เพราะเธออาศัยอยู่ในเมืองใกล้ชายหาด จึงทำให้เธอเห็นความสำคัญของการมีท้องทะเลที่สะอาด แต่เมื่อมาถึงเหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ทำให้เธอและอีกหลาย ๆ คนต้องกลับมาคิดซ้ำอีกครั้งเมื่อจะใช้ถุงผ้า
ทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างขยับตัวออกมาตรการเพื่อรับมือกับพิษโรคระบาดในครั้งนี้ เห็นได้จากเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นิวแฮมไชร์กลายเป็นรัฐแรกในอเมริกาที่ “แบนถุงผ้าชั่วคราว” ในระหว่างช่วงเวลาที่มีการระบาด หรือจะเป็นนโยบายของร้านกาแฟต่าง ๆ ที่งดให้ลูกค้านำแก้วส่วนตัวมาใส่เครื่องดื่ม นั่นรวมไปถึงการกินอาหารนอกบ้านที่ได้รับผลกระทบจนชาวเมืองต้องสั่งแบบเดลิเวอรีหรือซื้ออาหารใส่ถุงกลับมากินที่บ้านแทน เหล่านี้ล้วนสวนทางกับนโยบายของหลาย ๆ ประเทศที่ประกาศแบนพลาสติกอย่างจริงจัง หรือแม้แต่การคิดราคาค่าถุงแบบเข้มงวด รวมถึงในบ้านเราด้วยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
เป็นการยากที่คนเมืองในช่วงนี้จะเลี่ยงการกินอาหารแบบเดลิเวอรี แน่นอนว่าอาหารย่อมมาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์และถุงพลาสติก แต่ในวิกฤตเช่นนี้ก็ยังมีความคิดสร้างสรรค์จากร้านอาหารที่ต้องการลดจำนวนขยะ ตัวอย่างจาก Fried Dining ร้านอาหารห่อใบตองแบบเดลิเวอรี ที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคได้มองเห็นว่า เราสามารถใช้วัสดุใกล้ตัวทดแทนพลาสติก ไม่ให้เราเจ็บหนักจาก “อีกปัญหา” อย่างขยะพลาสติกล้นเมืองมากจนเกินไปหลังผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19
เพราะตามความเป็นจริง เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเชื้อไวรัสจะสามารถเกาะอยู่บนถุงผ้าของเราได้นานแค่ไหน แต่มีการวิจัยยืนยันแน่นอนแล้วว่า เชื้อไวรัสเกาะอยู่บนถุงพลาสติกได้มากกว่า 3 วันจากสภาพแวดล้อมในห้องแล็บ นั่นหมายความว่าการใช้ถุงพลาสติกก็ไม่ได้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสไปมากกว่าถุงผ้าเลย “แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ควรจะระมัดระวัง แม้จะใช้ถุงผ้าของตัวเองก็ตาม เพราะก็ยังไม่มีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัด” เมแกนแนะนำ ฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เรามั่นใจได้มากที่สุดในยามนี้ ก็คือการปฏิบัติกับถุงผ้าหรือถุงใช้ซ้ำของเราเหมือนกันกับ “มือ” ที่ต้องรักษาความสะอาดเป็นประจำ หรือ “เสื้อผ้า” ที่ต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้งที่สวมใส่ไปไหนมาไหนนอกบ้าน บวกกับขยะภาชนะใส่อาหารที่ควรแยกทิ้งอย่างเรียบร้อยเพื่อควบคุมปริมาณขยะให้ดีที่สุด
หนทางที่พอจะช่วยลดการใช้งานจนเกิดเป็นขยะพลาสติกได้ อาจเป็นการเลือกใช้ถุงหรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ อย่างถุงกระดาษที่แม้จะใช้ครั้งเดียวทิ้งเหมือนกับถุงพลาสติก แต่ก็ยังย่อยสลายได้ง่ายกว่า อีกไอเดียหนึ่งในการจะใช้ถุงผ้าแบบสะอาดไร้กังวลก็คือ พยายามสร้างระบบการรับและส่งคืนถุงผ้าโดยรับถุงผ้าใช้ซ้ำของผู้ใช้บริการ นำไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค แล้วค่อยนำกลับไปยังร้านค้าเพื่อใช้ซ้ำอีกที เพราะอย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ก็ยังคุ้มค่า ที่เราจะเตรียมการไว้ก่อนโดยไม่ให้เกิดกรณี “แก้ปัญหาหนึ่งได้ แต่กลับไปเพิ่มอีกหนึ่งปัญหา” เพราะในระยะยาวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมปริมาณขยะพลาสติก หรือการยกระดับระบบสุขภาพและสาธารณสุขของประชาชน ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน
วิธีการง่าย ๆ จัดการภาชนะพลาสติกจากเดลิเวอรี 1. ล้างพอหายมัน // 2. ตากให้แห้ง // 3. ส่งไปที่บริจาค N15 Technology โครงการวน และ YOLO-Zero Waste Your Life หรือจะนำมาใช้ซ้ำก็ได้นะ หมายเหตุ : สามารถดูรายละเอียดชนิดพลาสติกที่รับบริจาค รวมถึงช่องทางการจัดส่งได้ทาง facebook.com/n15technology, facebook.com/wontogether และ facebook.com/zerowasteyolo |
ที่มาภาพ : Brian Yurasits/Unsplash
ที่มา : บทความ “Plastic bags are making a comeback because of COVID-19” โดย Justine Calma (2 เมษายน 2563) จาก theverge.com
บทความ “Fried Dining ร้านข้าวผัดห่อใบตอง Delivery ที่จับคู่รสชาติที่คุ้นเคยมารวมกับข้าวให้แปลกใหม่” จาก readthecloud.co
เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร