องค์การกรีนพีชเปิดเผยผลวิจัยพบว่า ยอดขายถุงใช้ซ้ำ หรือ "แบกส์ฟอร์ไลฟ์" (bags for life) ตามห้างซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.5 พันล้านใบ

ถุงใช้ซ้ำเป็นถุงที่หนากว่าถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยซูเปอร์มาร์เก็ตนำมาจำหน่ายในราคาขั้นต่ำ 10 เพนซ์ หรือประมาณ 4 บาท แทนถุงพลาสติกแบบราคา 5 เพนซ์ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนนำถุงมาใช้ซ้ำ

ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในอังกฤษยุติการจำหน่ายถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ราคา 5 เพนซ์ หรือ 2 บาท เพื่อเปลี่ยนมาจำหน่ายถุงใช้ซ้ำกันมากขึ้น

แต่กรีนพีช รวมถึงสำนักงานสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ สรุปในรายงานฉบับนี้ว่า ยอดขายถุงใช้ซ้ำที่เพิ่มขึ้น หมายความว่า ประชาชนจำนวนมากยินยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อถุงใช้ซ้ำ แทนถุงพลาสติกแจกฟรี แต่สุดท้ายก็ยังคงทิ้งถุงที่ซื้อมาอยู่ดี

 

อีไอเอเสริมว่า ถุงใช้ซ้ำต้องถูกนำมาใช้อย่างน้อย 4 ครั้ง ถึงจะเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม มากกว่าถุงใช้แล้วทิ้ง ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า

กลับกันที่ประเทศไอร์แลนด์ ทางตะวันตกของสหราชอาณาจักร ประสบความสำเร็จในการลดยอดขายถุงใช้ซ้ำได้ถึง 90% หลังตั้งราคาไว้ที่ 70 เพนซ์ หรือ 28 บาทต่อถุง ดังนั้นกรีนพีชและอีไอเอจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มราคา "แบกส์ฟอร์ไลฟ์" เป็น 70 เพนซ์ หรือถ้าเป็นไปได้ก็ระงับการแจกและจำหน่ายถุงไปเลย

รายงานฉบับนี้ยังพบว่า ปริมาณพลาสติกที่เกิดขึ้นจากธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตยังเพิ่มสูงเป็น 9 แสนตัน จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 8.86 แสนตัน ทั้งที่ผู้ค้าปลีกเคยให้คำมั่นว่าจะลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ลง

ทั้งนี้ข้อมูลของรัฐบาลพบว่า ในแคว้นอังกฤษ (England) ยอดจำหน่ายถุงพลาสติก แบบใช้แล้วทิ้ง ลดลงกว่าครึ่งในช่วงปี 2018-2019 เหลือ 549 ล้านใบ จากปีก่อนหน้าที่สูงถึง 1 พันล้านใบ

นับแต่ปี 2015 รัฐบาลได้ประกาศมาตรการงดแจกถุง หากประชาชนต้องการถุงพลาสติก จะต้องเสียเงินเพิ่ม 5 เพนซ์ หรือ 2 บาท ซึ่งช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้ถึง 90%

ปัจจุบันนี้ ลูกค้าซื้อถุงพลาสติกเฉลี่ย 10 ใบต่อปี ลดลงจาก 140 ใบต่อปีในปี 2014

มาตรการลดพลาสติกอย่างเด็ดขาด

ฟิโอนา นิโคลส์ นักรณรงค์ลดพลาสติกในมหาสมุทรของกรีนพีชยูเค กล่าวว่า "ซูเปอร์มาเก็ตทั้งหลายกำลังล้มเหลวเรื่องพลาสติก และทำให้ลูกค้าทุกคนผิดหวัง"

"เราได้ยินประกาศจากซูเปอร์มาร์เก็ตว่าจะลดพลาสติกทุกสัปดาห์ แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจเหล่านี้กลับนำพลาสติกมาวางจำหน่ายมากขึ้น"

คำบรรยายภาพ, ถุงพลาสติกลด แต่บรรจุภัณฑ์พลาสติกยังเพิ่ม

รายงานฉบับนี้พบว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่ตนเองผลิตขึ้นเองจริง แต่พลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่รับมาขายกลับเพิ่มขึ้น

มีเพียง เทสโก เท่านั้นที่ประกาศอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิตว่า จะลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง และนำสินค้าที่ยังใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ออกจากชั้นวาง

เป้าหมายที่ท้าทาย

เวโทรส (Waitrose) แฟรนไชส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ด้านการลดบรรจุภัณฑ์พลาสติก และทดลองเปลี่ยนวิธีการจำหน่ายเป็นแบบ 'เติมสินค้า' หรือการที่ลูกค้านำภาชนะมาเติมสินค้าเองกับผลิตภัณฑ์ อาทิ กาแฟ ข้าว พาสตา ไวน์ และผงซักฟอก

ส่วน มอร์ริสันส์ (Morrisons) รั้งอยู่อันดับ 2 แต่ได้รับการชื่นชมจากนักเคลื่อนไหว จากการตั้งเป้าหมายเพิ่มบรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการลดราคาสินค้าแบบ 'เติม' ให้ถูกกว่าสินค้าในบรรจุภัณฑ์ 10%

สมาคมผู้ค้าปลีกบริติช ซึ่งเป็นผู้แทนซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ระบุว่า ผู้ค้าปลีกประสบความสำเร็จในการลดการใช้พลาสติกในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเอง ด้วยการยกเลิกการใช้ 'พอลิสไตรีน' (พลาสติกที่หลอมเหลวได้) และช้อนส้อมพลาสติก ทั้งหมด รวมถึง เริ่มทดลองใช้วิธีการจำหน่ายแบบ 'เติมสินค้า' แล้ว

คำบรรยายภาพ, มีเพียง เทสโก เท่านั้น ที่ประกาศอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิตว่า จะลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง

แต่ แอนดรูว์ โอปิเอ ผู้อำนวยการด้านอาหารและความยั่งยืน ระบุว่า "มาตรการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ" และซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ได้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย คือ การทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมด 100% เป็นแบบใช้ซ้ำ รีไซเคิล หรือย่อยสลายได้ง่าย
 

ที่มาของภาพ, EPA

Credit : Click