ติดต่อเรา

ถุงขยะรักษ์โลกจากแนวคิด


ถุงขยะรักษ์โลกจากแนวคิด Closed-Loop (Closed-Loop Trash Bag) โมเดลต้นแบบจากความร่วมมือสู่สิ่งที่จับต้องได้จริง

Publish On 23, Jul 2021 | ถุงขยะรักษ์โลกจากแนวคิด Closed-Loop (Closed-Loop Trash Bag) โมเดลต้นแบบจากความร่วมมือสู่สิ่งที่จับต้องได้จริง

Closed-Loop คืออะไร ? หากแปลตรงตัว ก็แปลว่าวงจรแบบปิด ซึ่งหากเทียบให้เห็นภาพก็น่าจะคล้ายคลึงกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างที่คุ้นเคยกัน เริ่มต้นที่วัสดุพลาสติกที่ใช้แล้ว หมุนเวียนกลับสู่กระบวนการรีไซเคิล กลับมาเป็นวัสดุสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ความพิเศษอยู่ที่ ไม่มีสิ่งใดหลุดรอดออกไปยังสิ่งแวดล้อมเลย วัสดุทุกชิ้นกลับสู่กระบวนการอย่างสมบูรณ์ นี่จึงเป็นความท้าทายของผู้พัฒนานวัตกรรมที่จะต้องทำให้กระบวนการผลิตและจัดการขยะสมบูรณ์แบบมากที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างสององค์กร โดยมีผลประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายเดียวกันที่จะต้องไปให้ถึง

 

ด้วยเป้าหมายของธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเริ่มต้นจากภายในองค์กร จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างสององค์กรที่ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้อย่างจริงจัง อย่างเอสซีจี ซึ่งมี KoomKah เว็บแอปพลิเคชันสำหรับบริหารจัดการธนาคารขยะ รวมถึงส่งเสริมการนำขยะไปรีไซเคิลให้กลายเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์อีกครั้ง และบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) (TPBI) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการวน (WON Project) ซึ่งเป็นโครงการที่รวบรวมพลาสติกประเภทที่ยืดได้ไปรีไซเคิลต่อ

 

ทั้งสององค์กรต่างมองหาความเป็นไปได้ใหม่จากสิ่งรอบตัว จนสังเกตเห็นถึงพลาสติกยืดได้ที่ใช้แล้วในโรงงานและเกิดความคิดที่จะนำพลาสติกเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาใช้งานในโรงงานได้อีกครั้ง จึงเป็นที่มาของ Closed-Loop Trash Bag หรือถุงขยะรักษ์โลก ซึ่งนับว่าเป็นโมเดลต้นแบบในเรื่องนี้ได้อย่างดี

ที่มาความร่วมมือ กว่าจะเป็นถุงขยะ ClosedLoop

 

วิธีการเริ่มต้นจากการสำรวจทรัพยากรของตน ซึ่งเอสซีจีได้สังเกตเห็นเศษฟิล์มยืดที่กลายเป็นขยะหลังจากใช้ห่อหุ้มสินค้าในโรงงานแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้การจัดการด้วยคัดแยกและเก็บรวบรวมส่งขายออกให้กับโรงงานรีไซเคิลข้างนอก จึงได้เกิดเป็นความร่วมมือกับ TPBI ในการรับขยะไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกขึ้นมาใหม่ แล้วขึ้นรูปจนเกิดเป็นถุงขยะรักษ์โลก หรือ Closed-Loop Trash Bag เพื่อนำกลับมาใช้งานในโรงงานของเอสซีจีอีกครั้ง

 

“หากเรามองขยะพลาสติกให้เป็นวัตถุดิบ นำมารีไซเคิลและแปรรูปทำให้มีมูลค่า ก็จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่ใช้แล้วทิ้งไป โดยทุกภาคส่วนเราต้องช่วยกัน” – คุณสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกรรมการบริหาร TPBI

 

“การนำแนวคิด Closed-Loop มาทำให้เกิดขึ้นจริง ผ่านการปฏิบัติจริง และมีประโยชน์ที่จับต้องได้จริง เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีของการทำงานร่วมมือร่วมใจ (Collaboration) ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน โดยมีความเชื่อมั่นว่าจะทำโครงการนี้ให้สำเร็จ เป็น Key Success Factor” – คุณเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ Circular Economy Business Director ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

 

 

 

 

ถุงขยะรักษ์โลก พร้อมคุณสมบัติความทนทานที่มากกว่า

 

ผลลัพธ์จากความร่วมมือของทั้งสององค์กร เกิดเป็นถุงขยะรักษ์โลกสีขาวขุ่นคุณภาพดี ที่มีคุณสมบัติที่สามารถรับน้ำหนักและทนการเจาะทะลุได้ดี แต่ต้องโปร่งแสง เพื่อให้สามารถมองเห็นของภายในได้

 

กระบวนการพัฒนาสูตรสำหรับผลิตถุงขยะรักษ์โลก เริ่มต้นจากการขึ้นรูปถุงขยะด้วยการผสมเศษฟิล์มยืดที่เหลือจากในโรงงาน ร่วมกันกับเม็ดพลาสติก SCG™ HDPE S111F เม็ดพลาสติก HDPE สำหรับฟิล์มเพื่องานอุตสาหกรรมที่ทนแรงกระแทกได้ดีเป็นพิเศษ ที่เกิดจาก SMXTM Technology เกิดเป็นสูตรเฉพาะของเอสซีจี ที่ได้ผลลัพธ์ของผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าถุงขยะขาวขุ่นทั่วไปในท้องตลาด รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

คุณสมบัติของถุงขยะรักษ์โลกที่ได้จากความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ทำให้สามารถลดความหนาของถุงลงได้ 28% นั่นคือที่ความหนา 50 ไมครอน จากเดิมที่ถุงทั่วไปอยู่ที่ 60-70 ไมครอน แต่ยังคงคุณภาพความเหนียวและแข็งแรง นั่นเท่ากับว่าในกระบวนการผลิตต่อหนึ่งถุง ใช้วัสดุตั้งต้นน้อยลง ใช้พลังงานในการผลิตลดลง และถุงขยะรักษ์​โลกเมื่อเทียบกับถุงขยะสีขาวขุ่นทั่วไป จะเหนียวขึ้น ทนทาน และกลิ่นไม่ฉุนเท่าเดิม

 

 

 

 

ร่วมกันพัฒนา เพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

 

จากความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในแบบ Closed-Loop ให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเริ่มจากภายในองค์กร การศึกษาทั้งเรื่องรูปแบบการทำงานและการพัฒนาถุงขยะรักษ์โลก สามารถใช้เป็นคู่มือในการทำงานแบบประสานระหว่างสององค์กร และสามารถนำไปขยายผลต่อกับคู่ค้าต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ประโยชน์สำคัญที่ได้จากความร่วมมือกันในครั้งนี้ นอกจากจะสามารถเป็นต้นแบบให้องค์กรอื่น ๆ ไปปรับใช้ได้แล้ว ยังมีประโยชน์ต่อโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกองค์กรมีร่วมกัน เพราะนอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 400 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งเท่ากับการปลูกต้นไม้ 20 ต้นทีเดียว แม้จะดูเป็นจำนวนที่ไม่เยอะมาก แต่หากถูกนำไปขยายผลต่อที่โรงงานอื่น ๆ ต่อได้ ก็อาจเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้เป็นป่าใหญ่ได้เช่นกัน

 

“สิ่งสำคัญที่ทำให้โปรเจกต์นี้สำเร็จได้ คือพันธมิตรและคู่ค้าทุกคน โดยความมุ่งมั่นของผู้นำ (Leadership Commitment) เป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนทีมงานให้เห็นเป้าหมาย และเดินไปในทิศทางเดียวกัน” – คุณธนวัต อู่อุดมยิ่ง Application Development Leader ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี

 

“ความร่วมมือกันอย่างจริงจังระหว่างเอสซีจีและ TPBI ที่มีความตั้งใจจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง แม้จะยังเป็นโครงการเล็ก ๆ แต่โครงการนี้จะเป็นตัวอย่าง และแรงบันดาลใจให้อีกหลายภาคส่วนในการช่วยกันทำโครงการที่มีประโยชน์ต่อทุกฝ่ายให้เกิดขึ้นอีกมากมายบนโลกใบนี้” – คุณสิทธิชัย บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Consumables), TPBI

ขอขอบคุณแหล่งที่มา https://www.allaroundplastics.com/article/sustainability/29710/