ใน 1 วัน บ้านคุณมีขยะพลาสติกกันกี่ชิ้น แล้วมีวิธีจัดการกับขยะพวกนี้ยังไงกันบ้างเอ่ย ในบทความนี้ BnB home อยากชวนกันมาแยกขยะพลาสติกกัน เพราะพลาสติกแต่ละประเภทมีกระบวนการรีไซเคิลที่ไม่เหมือนกัน หากเราไม่แยก ขยะพลาสติกเหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และพวกเราทุกคนได้ ไปสำรวจกัน...ว่าขยะพลาสติกในบ้านที่ใช้แล้ว มีประเภทไหนกันบ้าง
สัญลักษณ์: เป็นพลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 1 และ PET
ลักษณะ: เป็นพลาสติกเนื้อเหนียว ทนต่อแรงกระแทกได้ดี เป็นพวกขวดพลาสติกใส มองทะลุได้
การใช้งาน: ผลิตเป็นขวดเครื่องดื่ม สำหรับใส่เครื่องดื่มที่ไม่ได้มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำอัดลม หรือขวดน้ำมันพืช เป็นต้น
หลังรีไซเคิล: สามารถนำหลับมาใส่เครื่องดื่มได้อีก หรือนำมาทำเป็นเส้นใยสำหรับทำเสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์ในหมอนหนุน
สัญลักษณ์: เป็นพลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 2 และ HDPE หรือ HD-PE
ลักษณะ: เป็นพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง แข็งแรง ทนต่อสารเคมี กรดและด่าง จะมีสีขาวหรือสีอื่น ๆ ที่เป็นสีทึบ ขึ้นรูปทรงต่าง ๆ ได้ง่าย มีความเหนียว และทนทานกว่าขวด PET
การใช้งาน: ผลิตเป็นขวดนมสีขุ่น ๆ ขวดแชมพู ขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า กระปุกยา ถังขยะ ถังบรรจุสารเคมี เช่น ถังน้ำมันรถ หรือถุงพลาสติก เป็นต้น
หลังรีไซเคิล: มักนำมารีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถังน้ำมัน ขวดน้ำมันเครื่อง ขวดน้ำยาซักผ้า ไม้เทียม พาเลท
สัญลักษณ์: เป็นพลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 3 และ PVC หรือ V
ลักษณะ: เป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรงมาก ต้านทานต่อสารเคมีและน้ำ เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี เปลี่ยนคุณสมบัติได้โดยการเติมสารเคมีปรุงแต่งลงไป
การใช้งาน: นอกจากท่อพีวีซีที่เราคุ้นเคยแล้ว ยังนำพลาสติกชนิดนี้มาผลิตประตู-หน้าต่าง ม่านห้องน้ำ สายยางใส ฉนวนหุ่มสายไฟ ของเล่นเด็ก แฟ้มใส่เอกสาร และบัตรต่าง ๆ เป็นต้น
หลังรีไซเคิล: สามารถนำมารีไซเคิลเป็นท่อประปาได้อีก เป็นข้อต่อ ม้านั่ง และกรวยจราจร
สัญลักษณ์: เป็นพลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 4 และ LDPE
ลักษณะ: เป็นฟิล์มพลาสติกโปรงแสงที่ยืดหยุ่นได้ ไม่ค่อยทนต่อความร้อน
การใช้งาน: ผลิตเป็นถุงพลาสติกหูหิ้ว หลอดพลาสติก แผ่นฟิล์มแรปห่ออาหาร ถุงบรรจุอาหารแช่แข็ง เป็นต้น
หลังรีไซเคิล: นำมารีไซเคิลเป็นถุงดำใส่ขยะ ถุงหูหิ้ว ถังขยะ และแผ่นฟิล์ม
สัญลักษณ์: เป็นพลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 5 และ PP
ลักษณะ: เป็นพลาสติกที่มีน้ำหนักเบาที่สุด แต่มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อน แรงกระแทก สารเคมี และน้ำมันคงรูปได้ดี
การใช้งาน: ผลิตเป็นภาชนะต่าง ๆ เช่น จาน ชาม ถุงร้อน ถ้วยโยเกิร์ต ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กล่องบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ แก้วน้ำ ฝาขวด เป็นต้น
หลังรีไซเคิล: นำมารีไซเคิลจะได้กล่องเก็บของอเนกประสงค์ กระถางต้นไม้ ถังหมัก แผ่นกรุผนัง ไม้กวาดพลาสติก และชิ้นส่วนในรถยนตร์
สัญลักษณ์: เป็นพลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 6 และ PS
ลักษณะ: เป็นพลาสติกมีลักษณะแข็งและมันวาว เปราะแตกง่าย แต่ทนต่อกรดและด่าง ผลิตเป็นรูปต่าง ๆ ได้ง่าย
การใช้งาน: ผลิตเป็นช้อน ส้อมพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ ภาชนะโฟม ฝาแก้วกาแฟ กล่องวีซีดี หรือผลิตเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
หลังรีไซเคิล: นำมารีไซเคิลเป็นไม้แขวนเสื้อ แผงสวิชต์ไฟ ฉนวนความร้อน กรอบรูป เครื่องใช้สำนักงานได้
สัญลักษณ์: เป็นพลาสติกรีไซเคิลหมายเลข 7 และ OTHER
ลักษณะ: เป็นพลาสติกหลายชนิดมาผสมกัน แต่ไม่ใช่พลาสติก 6 ประเภทก่อนหน้านี้ มีความแข็งใช้ซ้ำได้ ทนต่อความร้อน กรด และแรงกระแทกได้ดี
การใช้งาน: นำมาใช้ในการผลิตปากกา ขวดนมเด็ก หมวกนิรภัย ไฟจราจร ป้ายโฆษณา
หลังรีไซเคิล: สามารถนำไปผสมกับพลาสติกชนิดอื่น ๆ แล้วรีไซเคิลเป็นท่อ น็อต ล้อ พาเลท และเฟอร์นิเจอร์ใช้กลางแจ้ง เป็นต้น
วิธีการแยกขยะพลาสติกก่อนทิ้ง สามารถหากล่อง ถัง หรืออุปกรณ์จัดเก็บไซส์ต่าง ๆ มารวบรวมขยะพลาสติกแต่ละประเภทได้เลย ประเภทไหนน้อยก็ใช้กล่องเล็ก ประเภทไหนเยอะหน่อยก็สามารถใช้กล่องใหญ่ค่ะ ส่วนวิธีการแยก มีดังนี้
1. แยกตามประเภทพลาสติก หากไม่รู้ว่าเป็นพลาสติกประเภทไหน สามารถสังเกตจากสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ได้
2. ทำความสะอาด และตากให้แห้ง
3. ไม่เขี่ยบุหรี่หรือทิ้งสิ่งสกปรกลงในขวดพลาสติก
4. แยกทิ้งระหว่างฝา ขวด และฉลาก เพราะเป็นพลาสติกต่างชนิดกัน ดูตัวอย่างได้จากรูปภาพด้านล่าง
ขอบคุณภาพจาก GREENPEACE
ขอบคุณข้อมูลจาก bnbhome