ติดต่อเรา

4 วิธีกำจัดขยะของเหลือใช้ ให้กลายเป็นของมีค่า


จากการสำรวจข้อมูลสถานการณ์มลพิษของไทยปี 2561 พบว่า คนไทยทิ้งขยะเฉลี่ย "1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน" และดูเหมือนว่าตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ไม่นิ่งนอนใจ และพยายามหาทางแก้ไขผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก เพื่อมุ่งสู่ Zero Waste รวมทั้งเห็นชอบกับ 4 แผนจัดการปัญหาวิกฤตขยะจากภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย การยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะ ผลักดันภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน และบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษอย่างจริงจัง พร้อมทั้งมีการผลักดันให้นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริงอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันลดและกำจัดขยะด้วยวิธีที่ถูกต้องตามหลัก 3R อีกทั้งยังสนับสนุนโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อลดปริมาณขยะและมีผลพลอยได้เป็นพลังงานกลับมาใช้ประโยชน์

ทำไมต้องแยกขยะ เมื่อสุดท้ายก็นำไปรวมกันอยู่ดี ?
ดร.บัณฑูร เศรษฐสิโรตม์ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

 

 

ทำไมต้องแยกขยะ ในเมื่อสุดท้ายก็เอาไปเทรวมกันอยู่ดี ? นี่คือคำถามที่หลายคนเคยสงสัย และสุดท้ายก็จบด้วยการรวมขยะทุกชนิดทิ้งลงในถังใบเดียวกัน ทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นตามมาอีกด้วย เพราะไม่สามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วหากช่วยกันคัดแยกตั้งแต่ในบ้านของตัวเองก่อนส่งต่อให้คนเก็บขยะ จะช่วยลดภาระ ไม่ต้องเสียเวลาคัดแยก และทำให้การกำจัดขยะที่ปลายทางสามารถนำไปรีไซเคิลได้ทันที ที่สำคัญคือ ช่วยลดปริมาณขยะ ลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนทัศนียภาพบ้านเมืองให้น่ามองยิ่งขึ้น

สำหรับวิธีการแยกขยะให้ถูกต้องเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถร่วมด้วยช่วยกันได้ โดยทิ้งขยะตามสีถังขยะ 4  ประเภท ได้แก่ ถังขยะสีเขียว ถังขยะสีเหลือง ถังขยะสีน้ำเงิน และถังขยะสีแดง นั่นเอง

"ขยะ" มีค่า แค่เปลี่ยนวิธีคิดในการใช้ - คัดแยก

หลายคนอาจจะมองว่า “ขยะ” เป็นสิ่งไร้ค่า แต่ในความจริงแล้ว เราสามารถเปลี่ยน ให้เป็นของมีค่าได้ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนวิธีคิด ลดการใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงก่อนทิ้งควรมีการคัดแยกตามประเภทขยะ เพื่อนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น ทำปุ๋ยหมัก นำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้การกำจัดขยะมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่สุด ทั้งนี้ หากทุกคนร่วมด้วยช่วยกันเชื่อว่า การจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ในไทยไม่ไกลเกินเอื้อม และปัญหานี้จะหมดไปแน่นอน … แล้วเราจะเปลี่ยนขยะหรือสิ่งของเหลือใช้ให้มีค่าได้อย่างไร เรามี 4 คำแนะนำง่าย ๆ มาฝากดังนี้

1. Reduce : ลดการใช้

แก้วกาแฟ

 

 

Reduce เป็นวิธีลดการใช้ เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด มีหลักง่าย ๆ เลยคือ คิดก่อนซื้อ และลดการใช้ให้เหลือเท่าที่จำเป็น เช่น เตรียมแก้วส่วนตัวไปที่ร้านกาแฟ พกถุงผ้าติดตัวเผื่อเวลาไปตลาด ร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงนำภาชนะจากบ้านไปใส่อาหารเวลาซื้อกลับบ้านหรือทานอาหารที่ร้านไม่หมด เพียงเท่านี้ก็เท่ากับลดขยะลงได้ รวมถึงการลดผลกระทบจากของเหลือใช้ที่กำลังจะกลายเป็นขยะ เช่น การไม่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก กล่องโฟม เนื่องจาก ถุงพลาสติก ใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี ส่วนโฟมไม่สามารถย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้ หากกำจัดด้วยการเผาทำลายก็จะก่อให้เกิดก๊าซสไตรีน (Styrene) หรือสารไดออกซิน (Dioxins) ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงสิ่งแวดล้อม

2. Reuse : การใช้ซ้ำ

ถุงใส่ของ

 

 

Reuse คือ การนำบรรจุภัณฑ์เดิมกลับมาใช้ซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภท Single Use หรือใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น การใช้ขวดแก้วแทนพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง  รวมถึงการใช้ถุงผ้า ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีในแง่ของการนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะผลการวิจัยจาก Environment Agency 2006 ระบุว่า เราต้องใช้ถุงพลาสติกซ้ำประมาณ 133-393 ครั้ง ถึงจะคุ้มค่าเท่ากับการใช้ถุงผ้า 1 ครั้ง ยิ่งไปกว่านั้น ถุงผ้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ถุงผ้าฝ้าย ถุงผ้าแคนวาส ถุงผ้ากระสอบ สามารถย่อยสลายได้ง่าย ต่างจากถุงพลาสติกที่ย่อยสลายยากและใช้เวลานานเป็นร้อยปี

นอกจากนี้ เรายังสามารถนำของเก่าที่ไม่ใช้แล้วส่งต่อให้กับองค์กรหรือคนที่ต้องการนำไปใช้ต่อ นอกจากจะเป็นการเคลียร์บ้านของเราให้สะอาด เป็นระเบียบแล้ว ยังสร้างความสุขทั้งผู้ให้ได้อิ่มเอมใจไปกับการช่วยเหลือ ส่วนผู้รับเองก็ได้รับในสิ่งที่ต้องการ ช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แถมยังลดผลกระทบมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน จากการกำจัดขยะ สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วย

3. Recycle : นำกลับมาใช้ใหม่

ต้นไม้ปลูกในขวดพลาสติก

 

 

Recycle คือ การนำกลับมาใช้ใหม่โดยการแปรรูป หรือการนำวัสดุหรือบรรจุภัณฑ์ที่หมดสภาพการใช้งาน หรือเมื่อเราไม่ต้องการใช้แล้ว ไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า หรือรถเก็บขยะที่มีการคัดแยก เพื่อส่งกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตแปรรูปกลับเป็นสินค้าใหม่มาขายหรือใช้ได้อีก นอกจากนี้ยังรวมถึงการกำจัดขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร ซึ่งเป็นประเภทขยะที่มีความชื้นสูง ควรแยกทิ้ง เพราะสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักบำรุงดินต่อได้

ทั้งนี้ในส่วนของขวดพลาสติก ที่เรามักจะพบหรือใช้บ่อยๆ ก็สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นของใช้ในบ้านได้ง่าย ๆ นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้อีกด้วย

4. Energy Recover : เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน

โรงไฟฟ้าขยะ

 

 

แม้จะมีการลดการใช้ ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่ต้นทางไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังเหลือขยะตกค้างจำนวนมากที่ให้ต้องมาจัดการ โดยกรมควบคุมมลพิษปี 2561 พบว่ายังมีขยะตกค้างมากถึง 7.36 ล้านตัน และมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ยังพบปัญหาขยะในประเทศไทยที่แก้ไขไม่หมด จนกว่าจะหาทางจัดการขยะได้เต็มประสิทธิภาพอย่างแท้จริง จากจุดนี้เองที่ทำให้เกิด Energy Recovery หรือ Waste to Energy การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ทางออกที่ดีในการลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน มีผลพลอยได้เป็นพลังงานกลับมาใช้ โดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

สำหรับการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การนำมารีไซเคิล การทำปุ๋ยหมัก การนำเอาก๊าซที่เกิดในหลุมฝังกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือนำไปเข้ากระบวนการทางความร้อนหรือการเผา ซึ่งเราเรียกง่าย ๆ ว่า เตาเผาขยะ เมื่อขยะผ่านการเผาแล้ว ก็เกิดพลังงานความร้อน ซึ่งแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า "โรงไฟฟ้าขยะ" นั่นเอง

ทั้งนี้ ในส่วนของต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย และเกาหลีใต้ มีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อนำขยะมาผลิตเป็นพลังงาน รวมถึงมีการจัดการขยะได้ดีเยี่ยม และประสบความสำเร็จในด้านการจัดการขยะ เพราะภาครัฐ เอกชน และประชาชนในประเทศ ให้ความร่วมมือร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะ ส่งผลให้กลายเป็นเมืองสะอาด สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้มาก ในขณะเดียวกันแม้บางประเทศจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีปัญหาขยะล้นเมือง เพราะมีการตั้งถังขยะให้แยกตามประเภทในสถานที่สาธารณะ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจด้วยโครงการให้นำขยะมาแลกเป็นเงิน ส่วนขยะที่เหลือก็นำมาปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้ามาใช้

อ่านเพิ่ม : 6 ประเทศเมืองสะอาด จัดการขยะดีเยี่ยมที่คนไทยควรเอาเป็นต้นแบบ

บรรยากาศตางประเทศ

 

 

นี่คือส่วนหนึ่งของการลดปริมาณขยะ ด้วยหลัก 3R นั่นก็คือ Reduce (ลดการใช้) Reuse (นำกลับมาใช้ซ้ำ) และ Recycle (การนำมาแปรรูปใช้ใหม่) รวมถึง Waste to Energy (นำขยะไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า) เพื่อนำขยะกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเหลือขยะน้อยที่สุด ซึ่งหากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคนร่วมมือ-ร่วมใจกันทำ ก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นเมืองที่สะอาด สวยงาม และน่าอยู่มากขึ้นได้อย่างแน่นอน

แหล่งที่มา : https://erc.kapook.com/article24.php